...

ย้อนรอยแผ่นดินพระจอมเกล้าฯ เรื่องเล่าจากพงศาวดาร (ตอนที่ ๒ ราชทูตสยามไปประเทศฝรั่งเศส)

     ย้อนรอยแผ่นดินพระจอมเกล้าฯ : เรื่องเล่าจากพงศาวดาร (ตอนที่ ๒ ราชทูตสยามไปประเทศฝรั่งเศส)

     ราชอาณาจักรสยามกับฝรั่งเศสเริ่มมีความสัมพันธ์ระหว่างกันตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ในรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช และพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ ซึ่งได้ทรงส่งราชทูตมาเจริญทางพระราชไมตรีกับสยามเมื่อปี ๒๒๒๘ ต่อมาราชทูตสยาม (โกษาปาน) ได้เดินทางไปเข้าเฝ้าพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ ณ พระราชวังแวร์ซายส์ เมื่อปี ๒๒๒๙ ภายหลังรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ความสัมพันธ์ระหว่างราชอาณาจักรสยามกับฝรั่งเศสก็เสื่อมลง จนกระทั่งสมัยรัตนโกสินทร์ ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างสยามกับฝรั่งเศสก็ได้เริ่มต้นขึ้นอีกครั้ง จากการที่ราชอาณาจักรสยามทำสนธิสัญญากับสหราชอาณาจักร หรือที่รู้จักกันในนาม “สนธิสัญญาเบาว์ริง” ทำให้ประเทศตะวันตกอื่น ๆ ทยอยเข้ามาทำสนธิสัญญากับราชอาณาจักรสยามในทำนองเดียวกันนี้ ฝรั่งเศสซึ่งในขณะนั้น ตรงกับสมัยจักรพรรดินโปเลียนที่ ๓ ได้ส่งราชทูตมาเจริญทางพระราชไมตรี พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำริแต่งคณะราชทูตสยามให้เชิญพระราชสาส์นและเครื่องมงคลราชบรรณาการไปถวายพระจักรพรรดิ เป็นการตอบแทน จึงโปรดเกล้าฯ ให้ส่งคณะราชทูตไปยังประเทศฝรั่งเศส ในปี ๒๔๐๔ นำโดย พระยาศรีพิพัฒน์ (แพ  บุนนาค) เป็นราชทูต เจ้าหมื่นไวยวรนารถ (วร  บุนนาค) เป็นอุปทูต พระณรงค์วิชิต (จอน  บุนนาค) เป็นตรีทูต เชิญพระราชสาส์น และเครื่องมงคลราชบรรณาการไปถวายแด่พระจักรพรรดิฯ  ณ พระราชวังฟงแตนโบล

    ในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ ของเจ้าพระยาทิพากรวงษ์ (ขำ  บุนนาค) ไม่ได้กล่าวถึงเหตุการณ์ในคราวนี้ไว้ หากมีรายละเอียดเหตุการณ์ ปรากฏอยู่ในประชุมพงศาวดารภาคที่ ๓๐ จดหมายเหตุของพระณรงค์วิชิต (จอน บุนนาค) เรื่องราชทูตไทยไปประเทศฝรั่งเศส ในรัชกาลที่ ๔ เมื่อปีระกา พุทธศักราช ๒๔๐๔ เล่าถึงการเข้าเฝ้าสมเด็จพระจักรพรรดินโปเลียนที่ ๓ ไว้ความว่า

“...วันพฤหัสบดีเดือน ๘ แรม ๕ ค่ำ เวลาเช้า ๒ โมงมองติคนีพาขุนนางเจ้าพนักงารมารับเครื่องมงคลราชบรรณาการ ไปตั้งที่พระราชวังฟอเตลโปล ราชทูตจึงให้หลวงอินทรมนตรี ขุนมหาสิทธิโวหาร แต่งตัวตามบันดาศักดิ์ ๒ นายกำกับไปจะได้จัดตั้งด้วย ครั้นเวลาบ่าย ๒ โมงครึ่ง มาเชอวายยางขุนนางฝ่ายทหาร ๑ มารอนเตลริศ ขุนนางฝ่ายกรมท่า ๑ มองติคนี ๑ สามคนจักรถมารับทูตานุทูตที่โฮเต็ล ๕ รถ เทียมม้า ๔ ม้า สารถีขับรถใส่หมวกภู่ทอง ใส่เสื้อปักทองขับรถละ ๒ คน ราชทูต อุปทูต ตรีทูต แต่งตัวใส่สนับเพลานุ่งยกทอง คาด เข็ดขัด คาดกรองทอง ใส่เสื้อเยียระบับอย่างน้อยชั้นใน เสื้อกรุยกรองทองชั้นนอก ราชทูตขัดกระบี่ฝักทองคำลงยา ใส่มาลามีพระตราจอมเกล้าประดับเพ็ชร์ อุปทูตขัดกระบี่ฝักนาคบ้างทองคำประดับพลอย ใส่มาลา มีพระตราจอมเกล้าประดับทับทิม ตรีทูตขัดกระบี่ฝักกาไหล่ทอง ใส่ทรงประพาสมีพระตราปิ่นเกล้าทองคำ บาดหลวงลุยวิศลอนนาดีล่าใหญ่ นายสรรพวิชัย หมื่นจักรวิจิตร นายสมบุญบุตรราชทูต นายชาย บุตรอุปทูต ขุนสมบัติบดี หลวงชาติสุรินทร์ ขุนจรเจนทเลล่าม นายเปีย ล่ามมหาดเล็ก นายเอี่ยมมหาดเล็ก แต่งตัวตามบันดาศักดิ์ ๑๒ คน รถที่หนึ่งเปนรถราชทูตเชิญหีบพระราชสาส์นขึ้นรถมีขุนนางไปด้วยในรถมาเชอวายยางขุนนางฝ่ายทหาร ๑ มองติคนี ๑ บาดหลวงลุยวิศ ลอนนาดี๑รถที่สองนั้นอุปทูต ตรีทูต มารอนเตลริศขุนนางฝ่ายกรมท่า ๑ นายชายบุตรอุปทูต ๑ รวม ๔ นาย ผู้กำกับเครื่องมงคลราชบรรณาการเสมียน ล่ามไป ๓ รถ ออกจากโฮเต็ลทางไมล์หนึ่งถึงที่โรงพักรถไฟ มีขุนนางฝ่ายทหารพลเรือนคอยรับทูตานุทูตอยู่ที่ท่ารถไฟหลายนาย

     แล้วมองติคนีเชิญทูตานุทูตให้เชิญพระราชสาส์นขึ้นรถไฟ ขุนนาง ที่มาคอยอยู่ที่นั้นก็ไปพร้อมกับทูตานุทูต ทาง ๑๒๐ ไมล์ ถึงที่พักรถไฟ ณพระราชวังฟอเตลโปล ทูตานุทูตลงจากรถไฟแล้วเชิญพระราชสาส์นขึ้นรถเทียมม้า 4 ม้าทุกรถไปตามถนน ราษฏรยกธงตามหน้าต่างทุกตึกไปทาง ๓๐ เส้นถึงพระราชวัง มีปี่พาทย์ประโคมสำรับหนึ่ง ๓๖ คน มีทหารแต่งตัวถือปืนไรแฟนยืนข้างถนนข้างละ๒แถวเปนทหาร๒,๐๐๐คน ทหารใส่เสื้อเกราะขี่ม้ายืนหลังทหารปืนข้างละ ๒ แถวเปนทหาร๔๐๐ม้า รวมทหาร ๒,๔๐๐ คน กำแพงวังด้านทางทูตเข้านั้นเปนรั้วเหล็กยอดปิดทอง มีประตูใหญ่ ๔ ประตู รถทูตานุทูตเข้าไปในพระราชวังถึง บันไดเกย ทูตลงจากรถแล้ว ขุนนางพาทูตานุทูตขึ้นไปบนตำหนัก เข้าพระทวารลดเลี้ยวไปประมาณเส้นหนึ่ง มีทหารใส่เสื้อเกราะยืน๒ แถวถือดาบถือขวานประมาณ ๕๐๐ คน ครั้นถึงห้องพระตำหนักแห่งหนึ่ง ขุนนางฝ่ายกรมวังออกมารับให้ทูตานุทูตหยุดพัก เปิดหีบพระราชสาส์น ออกแล้ว ราชทูตเชิญพระราชสาส์นในพระบวรราชวังรวมลงในพานพระราชสาส์นใหญ่ มองติคนีกับขุนนางกรมวังนำราชทูตเชิญพระบรมราชสาส์นแลพระบวรราชสาส์น กับทูตานุทูตเข้าไปถึงท้องพระโรง ที่เสด็จออก แล้วคลานตามลำดับเข้าไปถึงพระที่นั่ง ราชทูต ก็วางพานพระราชสาส์นลง ห่างกับที่สมเด็จพระเจ้าแอมเปอเรอเสด็จออกประทับอยู่นั้นประมาณ ๘ ศอก ทูตานุทูตพร้อมกันถวายบังคมครั้งหนึ่งแล้วหมอบอยู่ ราชทูตอ่านทูลเบิกถวายพระราชสาส์นเครื่องมงคล ราชบรรณาการเปนคำไทยก่อน แล้วบาดหลวงลุยวิศลอนนาดีล่ามอ่านแปลเปนคำฝรั่งเศสถวายจบแล้ว ๆ ทูตานุทูตพร้อมกันถวายบังคมอิกครั้งหนึ่ง

     สมเด็จพระเจ้าแอมเปอเรอมีรับสั่งตอบว่า ขอบพระทัยสมเด็จพระเจ้ากรุงสยามทั้งสองพระองค์ ที่ได้รับทูตแลขุนนางเรือรบซึ่งเข้าไปกรุงเทพมหานครโดยความยินดี แล้วสมเด็จพระเจ้ากรุงสยามแต่งทูตานุทูตให้เชิญพระราชสาส์นเครื่องมงคลราชบรรณาการมาเจริญทางพระราชไมตรีอิกนั้น ขอบพระทัยสมเด็จพระเจ้ากรุงสยามเปนอันมากแต่ก่อนกรุงฝรั่งเศสกับกรุงสยามอยู่ไกลกัน เดี๋ยวนี้ฝรั่งเศสตีได้เมือง ไซ่ง่อนเขตแดนญวนเปนของฝรั่งเศส แผ่นดินก็ใกล้กันกับกรุงสยาม คอเวอนแมนต์ทั้งสองฝ่ายมีธุระการงารสิ่งใดจะได้ปรึกษาหารือกัน พระราชไมตรีก็จะได้สนิทกันมากทวีขึ้นไป ขอให้สมเด็จพระเจ้ากรุงสยาม ทั้งสองพระองค์ ทรงพระชนมายุยืนยาวให้มาก พระราชไมตรีทั้งสองพระนครจะได้ถาวรวัฒนาสืบไปภายหน้าชั่วฟ้าแลดิน ทูตถวายบังคมพร้อมกันอิกครั้งหนึ่ง แล้วราชทูตเชิญพานพระราชสาส์นเข้าไปถวายสมเด็จพระเจ้าแอมเปอเรอทรงรับต่อพระหัดถ์ แล้วส่งพระราชสาส์นให้มินิศเตอทูวแนลผู้สำเร็จราชการต่างประเทศ ราชทูตคลานถอยออกมาถึงที่เฝ้าทูตานุทูตถวายบังคมอิกครั้งหนึ่ง ขุนนางบอกว่าจะเสด็จขึ้นทูตานุทูตพร้อมกันถวายบังคมคลานถอยหลังออกมา แล้วมีรับสั่ง ให้ทูตานุทูตยืนขึ้นทุกคน สมเด็จพระเจ้าแอมเปอเรอแลแอมเปรศพระ มเหษีพระเจ้าลูกยาเธอเนโปเลียน เสด็จมาไต่ถามทุกข์สุขถึงสมเด็จพระเจ้ากรุงสยามทั้งสองพระองค์ แลพระบรมวงศานุวงศท่านเสนาบดีผู้ใหญ่แลทูตานุทูต แล้วรับสั่งให้หาตัวนายชายมาให้พระเจ้าลูกยาเธอเนโปเลียนจับมือนายชาย สมเด็จพระเจ้าแอมเปอเรอนั้นตรัสภาษา ฝรั่งเศส แอมเปรศพระมเหษีนั้นตรัสภาษาอังกฤษ แล้วเสด็จเลย ไปทอดพระเนตรเครื่องมงคลราชบรรณาการ รับสั่งว่าฝีมือช่างไทยทำ สิ่งลงยาลายสลักประดับเพ็ชร์ประดับพลอยงามกว่าของในประเทศอื่นแล้วเสด็จขึ้น...”

     เหตุการณ์ดังกล่าว นับเป็นเหตุการณ์สำคัญครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ไทย และเป็นจุดเริ่มต้นสัมพันธไมตรีระหว่างสยามกับฝรั่งเศสที่สืบเนื่องยาวนานจนถึงปัจจุบัน

 

ภาพ : คณะราชทูตสยามที่เดินทางไปเจริญทางพระราชไมตรี สมัยรัชกาลที่ ๔ พุทธศักราช ๒๔๐๔

(จำนวนผู้เข้าชม 3092 ครั้ง)